[Blog] Review eloop EW55 MagCharge
รีวิว eloop EW55 MagCharge Magnetic ขนาดความจุ 20000mAh
ว่าไปก็ไม่ได้ซื้อแบตเตอรี่เสริมมาพักใหญ่ ๆ แล้วเหมือนกัน เนื่องจากนิสัยการใช้งานที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่ได้ใช้แบตเสริมเลยในระหว่างวัน แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ต้องซื้อแบตเสริมอีกครั้งคือการไปเที่ยวต่างประเทศนั่นเอง
แน่นอนว่าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ พฤติกรรมการใช้งานมือถือย่อมเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการดู Google map การเปิดเว็บเพื่อหาข้อมูลการเดินทางต่าง ๆ ประกอบกับระหว่างวันก็ไม่ได้มีที่ชาร์จ หรือแวะกลับที่พักได้บ่อย ๆ แบต iPhone เต็ม ๆ ใช้ไม่พอทั้งวันแน่ ๆ เผลอ ๆ หมดตั้งแต่ก่อนเที่ยง ดังนั้นสำหรับการท่องเที่ยวครั้งนี้ จึงต้องหาแบตเสริมมาใช้งาน ดูจาก Review หลาย ๆ เจ้าแล้ว ขอเลือกเป็น eloop EW55 และ Blog ตอนนี้ก็อยากเขียนเป็น Review จากการใช้งานที่ฝรั่งเศส เพื่อให้เห็นการใช้งานจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างไร
eloop EW55
TL;DR ข้อควรระวังคือห้ามใช้งานสายชาร์จที่แบ่งย่อยออกเป็นหลายสาย
ก่อนอื่นต้องบอกว่าเทคโนโลยีแบตเสริมมันพัฒนาไปเยอะพอสมควร ถ้าให้ย้อนจริง ๆ แบตเสริมก้อนล่าสุด คงซื้อเมื่อประมาณ 5–6 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นการใช้ชาร์จแบบไร้สายยังไม่เกิดขึ้น Fast Charge ยังไม่ต้องพูดถึง พอร์ตการเชื่อมต่อยังแบ่งออกเป็นแค่ Lighting ของ iPhone และ Micro-USB ของมือถือค่ายอื่น ๆ เท่านั้น
สำหรับ eloop EW55 ผลิตจากพลาสติก ABS ออกแบบมาให้เป็นทรงเหลี่ยมตัดขอบ ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่เหมือนพลาสติกทั่วไปให้ความ Premium เพิ่มขึ้นมา ในส่วนของการออกแบบ เมื่อเป็นพลาสติกแบบตัดขอบแล้ว ประกอบกับการใช้งานของ Apple MagSafe ทำให้ iPhone “ตั้งได้” ด้วย eloop EW55 ถือเป็นการประยุกต์การใช้งานที่ดีไปอีกแบบ
ด้านบนมีส่วนที่เป็นอะคริลิคใส ที่ความเว้าโค้งลงเล็กน้อย เพื่อให้ “หลบเลนส์กล้อง” ที่ชอบยื่นออกมาในดีไซน์ของมือถือยุคหลัง ๆ
มีการโชว์แผงวงจรภายในเล็กน้อย พร้อมกับหลอดไฟแสดงสถานะแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 25% 50% 75% และ 100% ส่วนไฟอีกหลอดที่เป็นสีส้ม มีไว้เพื่อบอกสถานะการใช้แบบ Fast Charge ทั้ง Body ของ eloop EW55 มีปุ่มเพียง 1 ปุ่มเท่านั้น มีไว้เพื่อดูสถานะความจุของแบตเตอรี่ขนาดใช้งาน
ด้านบนมีผิวสัมผัสที่เป็นแม่เหล็ก สำหรับการใช้งาน Apple MagSafe รวมไปถึง Wireless charging ของมือถือประเภทอื่น ๆ สำหรับ Apple MagSafe รองรับการจ่ายไฟที่ 7.5W (เท่านั้น) ส่วนมือถือรุ่นอื่น ๆ รองรับการจ่ายไฟที่ 15W
สำหรับ Port การใช้งานมีให้ทั้งหมด 3 Ports ด้วยกันคือ
- USB-A 2 Ports ที่รองรับกำลังไฟ 18W และเป็นไฟ Output เท่านั้น
- USB-C 1 Port ที่รองรับกำลังไฟ 20W และเป็นทั้ง Input และ Output ในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่น่าเสียดายคือแม้ว่ามี Ports เชื่อมต่อถึง 3 Ports แต่การจ่ายไฟทั้งหมดรวมกันได้เพียง 20W เท่านั้น หมายความว่าถ้ามีการใช้งานมากกว่า 1 อุปกรณ์พร้อมกัน จะเกิดการแชร์กระแสไฟขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละอุปกรณ์
ข้อที่ต้องระวังคือห้ามใช้สายชาร์จแบบ 2 in 1 หรือ 3 in 1 ควรเป็นสายชาร์จแบบ Port เดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้ไฟเกิน
น้ำหนักของ eloop EW55 อยู่ที่ 300 กรัมกว่า ๆ เท่านั้น ถ้าเอาตัวเลขแบบถูกต้องจะหนักอยู่ที่ 334 กรัม ซึ่งถือว่าเบาหากเทียบกับความจุ 20000mAh
The usage experience
TL;DR ชาร์จพร้อมกันกับไร้สายไม่ได้ และพังง่าย
พูดถึงเรื่องการใช้งานจริงกันบ้าง หลังจากที่ได้ใช้ eloop EW55 เป็นแบตเสริมในทริปที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นว่ามันไม่สะดวกและอาจเป็นปัญหาหลัก ๆ มี 3 เรื่องด้วยกันคือ
ข้อแรก… ถ้าชาร์จด้วยสายชาร์จอยู่ จะไม่สามารถชาร์จแบบไร้สายได้ ตัวอย่างเช่นถ้ากำลังใช้งานชาร์จแบบไร้สายอยู่ แล้วมีอีกเครื่องเสียบสายชาร์จ ตัว eloop จะตัดการทำงานในส่วนของการชาร์จไร้สาย และปล่อยไฟให้กับสายชาร์จก่อน หรือในทางกลับกันถ้ามีการใช้สายชาร์จแล้ว แล้วเอามือถือไปวางที่แม่เหล็กเพื่อชาร์จไร้สาย eloop ยังจะคงปล่อยไฟให้สายชาร์จต่อเพียงอย่างเดียว
จุดนี้เป็นเหมือนจุดกวนใจใหญ่ ๆ เวลาใช้งานจริง โดยเฉพาะเวลาไปเที่ยว ยกตัวอย่างสถาณการณ์จริงที่เจอ คือตอนเวลานั่งกินข้าวด้วยกัน ส่วนมากแล้วเวลาอาหารจะเป็นเวลาพักสำหรับการชาร์จแบตไปด้วย กลายเป็นว่า eloop แชร์การชาร์จไม่ได้ ทำให้ต้องถือแบตกันคนละก้อน แทนที่จะให้เครื่องนึงวางที่ชาร์จไร้สาย อีกเครื่องหรือสองเครื่องจะต่อสายอะไรก็ว่าไป แต่นี่คือใช้งานในลักษณะนั้นไม่ได้ จะแชร์การชาร์จไฟต้องหาสายชาร์จหลาย ๆ เส้นมาเสียบแทน จุดนี้เลยกลายเป็นจุดใหญ่ ๆ ที่ไม่ประทับใจเลย
ข้อที่สอง… พังง่าย… ใช่ มันพังง่ายมาก ผิดจากรูปลักษณ์ที่ดูถึกทน แต่ในความเป็นจริงพังง่ายมาก ง่ายเกินไป จากประสบการณ์ส่วนตัวคือ ทำตกจากที่ไม่สูงมาก ไม่เกิน 15 cm แน่นอน แต่ eloop พัง… อาการที่พังคือยังสามารถจ่ายไฟได้ปกติ แต่… ชาร์จไฟไม่เข้า
สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นมากที่สุด เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นแบตสำรองหรือแบตเสริม มันควรออกแบบไว้สำหรับพกพา และแน่นอนว่าเมื่อพกพาแล้ว ย่อมต้องออกแบบให้ทนทานมากกว่านี้ ไม่ใช่ตกที่ความสูงต่ำ ๆ ไม่ได้กระแทกแล้วพัง…
ข้อที่สาม… ด้วยกำลังไฟ 7.5W สำหรับการชาร์จแบบไร้สายของอุปกรณ์ Apple มันไม่ทันในการใช้งาน โดยทั่วไปการชาร์จจะอยู่ที่ 18W แต่พอต้องมาใช้ 7.5W มันเหมือนกำลังไฟหายครึ่งนึง ทำให้เวลาชาร์จต้องเพิ่มขึ้น 1 เท่าด้วยเช่นกัน จุดนี้เวลาไปเที่ยวถือว่าใช้งานลำบากพอสมควร
Conclusion
กลายเป็นว่าจากข้อเสียที่เจอมาทั้ง 3 ข้อ ทำให้การใช้งาน eloop EW55 ไม่ประทับใจเลย คิดว่าควรออกแบบหรือผลิตออกมาให้ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่านี้
ในส่วนที่เป็นข้อดี นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ชอบเรื่องความจุที่มีให้ 20000mAh ซึ่งสามารถเติม iPhone ให้เต็มได้ประมาณ 3–4 รอบต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ถือว่าเป็นจุดที่ดีมาก ๆ เพราะไม่จำเป็นต้องชาร์จแบตเสริมบ่อย ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้… ลองนำความเห็นที่เขียนให้ทั้งหมดไปพิจารณาเลือกดู สำหรับการซื้อแบตเตอรี่เสริม 1 ก้อนว่ารับทั้งข้อดีข้อเสียทั้งหมดได้หรือไม่