[Blog] วงการคีย์บอร์ดมันน่ากลัว ล่าสุดเพิ่งเปลี่ยน Switch Keychron K6 มา
หลังจากที่ได้ลองใช้ Keychron K6 มาระยะนึง ถ้านับจากวันแรกที่คีย์บอร์ดมา ก็ประมาณ 1 เดือนพอดี รู้สึกเกิดความทนไม่ได้กับความ “ป๊อกแป๊ก” ของคีย์บอร์ดราคา 4 พันตัวนี้ ความป๊อกแป๊กที่ว่ามันเกิดขึ้นในระหว่างที่ใช้งานอยู่ มันไม่ได้เกิดจากงานประกอบที่ไม่แน่นหนา เพราะ Keychorn ประกอบได้ดี แต่ส่วนที่มันเป็นปัญหามาจาก 2 อย่างด้วยกัน คือ 1.Switch และ 2.Keycaps (ไม่นับรวมการติดแผ่นซับเสียงที่ฐานรองคีย์บอร์ด)
แน่นอนว่าส่วนที่เป็น Keycaps เป็นส่วนที่เปลี่ยน ซ่อม ปรับปรุงได้ง่ายกว่า Switch อยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่า Switch จะทำการเปลี่ยนยาก วันนี้ขอยังไม่พูดถึง Keycaps เพราะกำลังชั่งน้ำหนักว่า ควรอัพเกรดให้เป็นไปในทิศทางไหนดี กลับมาที่ Switch ด้วยความที่ K6 เป็น Hot Swappable ถ้าคนที่อยู่นอกวงการคีย์บอร์ดอาจไม่เข้าใจสิ่งนี้ว่ามันคืออะไร มันคือรูปแบบของแผงวงจรที่อนุญาตให้เราสามารถเปลี่ยน Switch ได้โดยที่ไม่ต้องบัดกรีแผงวงจรใหม่ ซึ่งทำได้อย่างง่ายดายด้วยการ “ดึง” Switch ออก
เล่าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คีย์บอร์ด K6 ที่ใช้งานอยู่เป็น Switch แบบ Tactile ของ Gateron Brown ซึ่งเป็นไลน์การผลิต Default มาจากโรงงานของ Keychron โดย Gateron Brown มีการกด 2 จังหวะ แต่ไม่มีเสียง Clicky ซึ่งหลังจากที่ใช้งานมาประมาณ 1 เดือน พบว่าชอบการพิมพ์จังหวะแบบนี้ ประกอบกับเสียงที่ไม่ได้ดังจนเกินไป สามารถทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้โดยที่ไม่รำคาญ ซึ่งแตกต่างจาก Clicky switch ที่พอใช้งานไประยะนึงแล้ว จะมีความรู้สึกว่า เสียงคลิ๊กของมันทำเอาเสียสมาธิได้
Issue
สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยน Switch คือ “น้ำหนัก” ในการกดคีย์บอร์ด รู้สึกกับ Gateron Brown ว่าเป็น Switch ที่ออกมาแบบมาให้ฟิลลิ่งในการ “กดลง” ไปได้ดี แต่ “แรงสะท้อน” หรือการดีดกลับของ Switch ทำได้ไม่ดี ทำให้ความรู้สึกในการพิมพ์มันเกิดเป็นความป๊อกแป๊กที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น ดังนั้นจึงต้องการเปลี่ยน Switch ให้สปริงมีความแข็งมากกว่าเดิม
ต่อรู้ว่าต้องเปลี่ยน Switch แล้ว แต่ว่า… เปลี่ยนเป็นของอะไร หรือยี่ห้อไหนดี? แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องเป็น Tactile เหมือนเดิม ระหว่างที่หา Facebook ก็เหมือนรู้ว่าเราสนใจอยู่ด้วย AI ที่ทรงพลัง ทำให้ Suggest page นี้ขึ้นมาให้ผ่านสายตา จังหวะที่ดีมากับ Switch Invyr Holy Panda เพิ่งเข้ามาเติมสต๊อคของ… ไม่รอช้าทักไปจองไว้ ก่อนที่จะเริ่มหาข้อมูลมันจริง ๆ ด้วยซ้ำ
Invyr Holy Panda
เล่นของแรง
ใช้คำนี้ก็ไม่ผิดเท่าไหร่ เพราะว่าราคามันไม่ได้ถูกเลย ค่าตัวแพงกว่า Gateron Brown อยู่ราว ๆ 4–5 เท่าแล้วแต่ร้านที่ซื้อ ซึ่งราคาของทั้งชุดมันพอสำหรับซื้อคีย์บอร์ดดี ๆ ใหม่ได้ 1 ตัวเลย แต่พอได้ศึกษา อ่านรีวิวแล้ว ทำให้เกิดอาการอยากลองมาก เพราะถึงกับเคลมว่าตัวเองเป็น THE MOST TACTILE SWITCHES IN THE WORLD
ขอลง Spec technical เล็กน้อย Holy Panda ออกเป็นเวอร์ชั่นใหม่ โดยที่เปลี่ยนเนื้อพลาสติกเป็น POM ทั้งหมด ของดีของ POM คือพอใช้งานไประยะนึง ผิวพลาสติกจะเรียยขึ้น ทำให้ฟิลลิ่งในการพิมพ์ลื่นขึ้น น้ำหนักที่ใช้ในการกดอยู่ที่ 67 กรัม ซึ่งมากกว่าเดิมเกือบ 20 กรัม ตัว Switch เป็น Connector แบบ 3 ขา ทำให้สามารถใช้งานได้กับ K6 ได้โดยตรง ไม่ต้องหักขาส่วนเกินออก สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม มีคนทำ Video ไว้ใน Youtube มากมาย ลิงค์ข้างล่างเป็นหนึ่งในช่องคีย์บอร์ดที่น่าติดตาม
Change
มาถึงการลงมือเปลี่ยน Switch K6 ซึ่งขั้นตอนตรงไปมา เพราะมันถูกออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น
Used
ชอบมากและ Tactile สุด
หลังจากที่เปลี่ยนเสร็จ… จังหวะแรกที่กดใช้งานคือใช่เลย ชอบเลย เหมือนกับว่า K6 เวอร์ชั่นที่เสร็จสมบูรณ์มันต้องเป็นแบบนี้ ฟิลลิ่งในการพิมพ์ที่จินตนาการไว้คือต้องเป็นแบบนี้ ทั้งแรงกด ทั้งแรงสะท้อน (ที่เป็นปัญหา) เสียง ทุกอย่างลงตัว กลมกล่อมไปหมด ถือว่าคุ้มค่าเงินที่ลงทุนไป
เนื่องจาก Holy Panda ที่สั่งมาใช้งานเป็นแบบ Unlube คือไม่มีการทาน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มเติมในตัว Switch ซึ่งชอบเป็นการส่วนตัว มันทำให้เกิดข้อสังเกตขึ้นมาว่า ในระหว่างการพิมพ์ด้วย Holy Panda มันจะมีเสียงสปริงก้องในบางจังหวะ ซึ่งสำหรับบางคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่ส่วนตัวแล้วไม่ได้รู้สึกว่ามันกวนใจอะไร แค่มันได้ยินในบางจังหวะ
Conclusion
จริง ๆ อาจได้ข้อสรุปไปทั้งหมดแล้ว แต่อยากย้ำอีกทีว่า ถ้าใครมีจริตการพิมพ์ที่คล้ายกัน แนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนมาใช้ Switch ดี ๆ จะพบกับโลกใหม่ของวงการนี้