[Blog] Mods Keychron K6 ให้เสียงดีกว่าเดิมด้วยการ Lube switches
Lube is the true love for your keyboard.
วงการคีย์บอร์ดมันน่ากลัว
คำนี้เหมือนเป็นคำที่ดูจริงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ตัดสินใจ Mods (Modify) Keychron K6 อย่าง (เกือบ) เต็มรูปแบบ ซึ่ง Blog ตอนนี้เป็นขั้นตอนและเรื่องราวทั้งหมด การเดินทางทั้งหมดตั้งแต่เริ่มซื้อ จนถึงเปลี่ยน Keycaps สามารถตามย้อนหลังได้จาก Link ที่ให้ได้ด้านล่าง
Lube
ก่อนเริ่มทำงาน ขออธิบายเรื่องการ Lube ก่อน การ Lube เป็นการทาสารหล่อลื่น ลงไปในส่วนที่มีการสัมผัสหรือเสียดสี ซึ่งในคีย์บอร์ดหมายถึงส่วนที่ใช้ในการเคลื่อนที่ทั้งหลาย เช่น Switch, Spring หรือ Stabilizer ทั้งหมดนี้เพื่อลดการเสียดสีระหว่างใช้งาน และทำให้เกิดเสียงที่ดีขึ้นนั่นเอง
เนื่องจาก Keychron K6 ที่ใช้งานอยู่ได้มีการเปลี่ยน Switch เป็น Holy panda จากเดิมที่ชอบน้ำหนักในการกด และเสียงจาก Switch ดีอยู่แล้ว กลายเป็นว่าอยากได้ความ Smooth มากขึ้น พร้อม ๆ กับเสียงที่เบาลง (จากเดิมที่ดังอยู่มาก) ดังนั้นจึงเกิดเป็น Blog ตอนนี้ขึ้นมา
Equipments
เริ่มจากอุปกรณ์แบ่งออกเป็นอุปกรณ์ทั่วไป และอุปกรณ์สำหรับคีย์บอร์ด โดยที่อุปกรณ์ทั่วไปเป็นจำพวกส่วนใช้ในการตัด และส่วนที่ใช้ในการทำความสะอาด (ใช้ที่เป่าลมสำหรับทำความสะอาดเลนส์ ก็ใช้งานได้ดีเหมือนกัน) สำหรับอุปกรณ์สำหรับคีย์บอร์ด มีส่วนที่เป็นพระเอกคือ น้ำยา Lube ตามรูปด้านล่าง
รายละเอียดของน้ำยา Lube เรียงจากซ้ายไปขวา
- Krytox 105 มีลักษณะค่อนข้างเหลว โดยสามารถสังเกตได้จากตัวเลขที่ลดลง คือถ้ายิ่งตัวเลขมีค่าน้อย จะยิ่งมีลักษณะที่เหลวมากขึ้น น้ำมันชนิดนี้มีไว้สำหรับการ Lube สปริง
- Dielectric Grease มีลักษณะเนื้อที่ค่อนไปทางเหนียว มีใช้เพื่อทาที่เป็นก้านดีดของ Stabilizer
- Krytox PKM2 มีลักษณะเป็นเนื้อกลาง ๆ ไม่เหนียวหรือเหลวจนเกินไป เกิดจากการผสมระหว่าง Krytox 205g2 และ Krytox 105 มีไว้สำหรับ Lube บริเวณที่เป็นเนื้อพลาสติกทั้งหมด
อุปกรณ์สำหรับเปิด Switch keyboard ความจริงแล้ว Switch สามารถใช้คีมในการเปิดออกได้เช่นกัน แต่ถ้ามีอุปกรณ์เฉพาะในการเปิดแล้ว สามารถช่วยประหยัดแรงและเวลาในการทำได้มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือช่วยในการถนอม Switch ให้พลาสติกมีสภาพเหมือนที่ออกจากโรงงานที่สุด
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้ทำการแกะ (แยก) ชิ้นส่วนคีย์บอร์ดทั้งหมดออกมาได้เลย โดยภาษาในวงการเรียกขั้นตอนนี้ว่า Disassembly
Stabilizer
ส่วนแรกที่เริ่มทำคือส่วนของ Stabilizer เพราะเนื่องจากงานประกอบที่ออกมาจากโรงงาน ส่วนนี้มักเกิดปัญหาเยอะที่สุด โดยเฉพาะ Stabilizer ที่เป็นแบบ Plate mounted อย่าง Keychron K6 ปัญหาที่ว่าคือ ส่วนที่ประกอบติดกับ PBT มักจะมีอาการ “หลวม” และเป็นที่มาของเสียงที่ไม่น่าฟังระหว่างพิมพ์
เมื่อทดสอบดูแล้ว พบว่า Stabilizer มีอาการหลวมทุกจุด จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขก่อน วิธีการแก้ไขคือใช้พลาสเตอร์ หรือเทปกาว 2 หน้า (แนะนำเทปกาว 2 หน้ามากกว่า) แปะเข้าไปที่ PBT เพื่อใช้รองระหว่าง PBT กับ Stabilizer ทำให้ลดช่องว่างที่ทำให้เกิดเสียงระหว่างใช้งาน
ต่อมาเป็นการ Lube stabilizer ให้ทำการแยกชิ้นส่วน Stabilizer ทั้งหมด โดยแยกส่วนที่เป็นเหล็ก และพลาสติกออกจากกันโดยมาเริ่มทำส่วนที่เป็นพลาสติกก่อน
ส่วนที่วงกลมสีแดงไว้ที่รูปด้านบน เป็นพลาสติกส่วนเกินใน Stem ของ Stabilizer เป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนในขณะที่ Stabilizer ถูกใช้งาน ดังนั้นสามารถตัดส่วนเกิดทั้งสองส่วนนี้ออกได้ สามารถใช้กรรไกรตัดเล็บตัดออกได้เลย
เมื่อตัดส่วนเกินออกทั้งหมดแล้ว สามารถทำการ Lube stabilizer โดยส่วนที่เป็นพลาสติก “ด้านใน” ที่มีการสัมผัสทั้งหมดทั้ง Housing และ Stem ใช้ PKM2 ทาในทั่ว และส่วนที่เป็นเหล็ก ให้ใช้ขาของก้านเหล็กทั้งสองข้างชุบไปที่ DG (ชุบเยอะหน่อย) และ แล้วทำการประกอบกลับให้เหมือนเดิม
Switch
ส่วนประกอบของ Switch 1 ตัว จากรูปด้านบน แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนมีเทคนิคการ Lube ที่ไม่เหมือนกัน
การที่จะได้มาทั้ง 4 องค์ประกอบของ Switch จึงเป็นต้องแกะ Switch “ทีละตัว” และหาภาชนะมาเพื่อแยกใส่ชิ้นส่วนทั้ง 4 แยกกันไว้
การ Lube ให้เริ่มทำจากส่วนที่เป็น Housing ฐานล่างก่อน โดยให้ Lube ด้วย PKM2 บริเวณขาทั้งสองข้าง และบริเวณที่วงกลมไว้ “ด้านใน” ซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสกับ Stem
ต่อมาเป็นการ Lube spring ด้วยน้ำยา 105 ซึ่งมี 2 เทคนิคหลัก ๆ คือ Lube เหมือนการ Lube housing เป็นการค่อย ๆ ทาน้ำยาไปทีละตัว หรือสามารถใช้ถุงพลาสติกที่สามารถปิดปากถุงได้ และเทน้ำยา 105 ลงในถุง (ไม่ต้องเยอะมาก) จากนั้นทำการเขย่า จนน้ำยาเคลือบ Spring ทั้งหมด
การ Lube spring ครั้งนี้ใช้วิธีที่ 2 คือการเขย่า Spring ในถุง ซึ่งข้อเสียเห็นได้จากรูปด้านบน คือ Spring จะมีพันกันหลังจากการเขย่า ทำให้ต้องมานั่งแยกออกจากกันทีละตัวในภายหลัง
เมื่อแยก Spring ออกจากกันได้ทั้งหมดแล้ว ให้นำ Spring มาวางในฐาน Housing เพื่อรอการประกอบ Switch กลับให้เหมือนเดิม
ส่วนสุดท้ายที่ต้องทำการ Lube คือ Stem แนะนำว่าให้ทำการน้ำยารอบทั้ง 4 ทิศทาง โดยเป็นบริเวณด้านข้างและด้านหลังที่มีหน้าสัมผัสกับ Housing (บริเวณที่เป็นสีเขียว) ส่วนของด้านหน้า ส่วนตัวอยากแนะนำให้ทาเฉพาะส่วนบน โดยเว้นบริเวณขาของ Stem เอาไว้ เนื่องจากเป็นส่วนที่ทำให้ความ Tactile หากทาทั้งหมดอาจทำให้ความ Tactile ลดลงจนมีลักษณะคล้าย Linear ซึ่งอาจไม่เหมาะสมมากนัก
เมื่อทำการ Lube ทั้งหมดเสร็จแล้ว สามารถทำการประกอบ Switch กลับให้เป็นเหมือนเดิม แล้วประกอบ Keyboard ให้พร้อมใช้งาน
Conclusion
จบแล้วสำหรับขั้นตอนการ Mods K6 ทั้งหมดที่ใช้อยู่ในขณะที่พิมพ์ Blog ตอนนี้ สิ่งที่สังเกตได้คือเสียงที่เบาลง แต่มีความแน่นขึ้น การสัมผัสที่ลื่นกว่าเดิม แต่ยังใช้แรงกดเท่าเดิมอยู่ มาถึงตรงนี้ถามว่ายังมีอะไรให้ปรับปรุงเกี่ยว Keyboard ได้อีกไหม…
ยังมีสิ่งที่ยังอยากเพิ่มเติมคือ การใส่แผ่นโฟมซับเสียง อาจช่วยลดความกังวานลง หรือการเปลี่ยน Stabilizer ให้เป็นเกรดที่มีคุณภาพมากกว่านี้ รวมไปถึงการติดฟิล์มให้กับ Switch ที่ช่วยลดช่องว่างของพลาสติกใน Housing (แต่อาจยังไม่จำเป็นมากสำหรับ Holy panda) และสุดท้ายยังอยากลองเปลี่ยนน้ำหนัก Spring เป็น 78 กรัม ที่ว่ากันว่าเป็นน้ำหนักที่ดีที่สุดสำหรับ Tactile
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น… อยากลองใช้งาน Keyboard ที่เพิ่มทำเสร็จก่อน เพราะจริง ๆ ก็พอใจกับผลงานที่ออกมามาก ๆ แล้ว